สภาพภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา

        ภูกระดึง เป็นผลที่เกิดจากปรากฎการณ์การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เกิดการหักตัว (fault) และการโก่งตัว (fold) ประกอบกับได้รับอิทธิพลของกษัยการอันได้แก่ การกัดเซาะ การพัดพา และการทับถมที่เกิดจากธรรมชาติเป็นเวลายาวนาน การเกิดขึ้นของภูกระดึงนี้คล้ายกับการเกิดขึ้นของภูเขาแถบนี้ทั่วๆ ไป เช่น ภูหอ ภูเขียว ภูเวียง ภูผาจิต ภูหลวง และภูเรือ ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขายอดตัดแบนราบ หากดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นว่าลักษณะที่ราบบนยอดภูกระดึงมีลักษณะเหมือนใบบอน

        ภูกระดึงเป็นภูเขาที่เกิดจากหินชั้นต่างๆ ที่ตกตะกอนและการสะสมตัวของโคลนตมเป็นเวลายาวนานถึง 180 ล้านปี (JURASSIC) ชั้นหินของภูกระดึงแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ

        ชั้นบนสุดเป็นหินทรายชุดภูพาน    ชั้นที่สองเป็นหินทรายชุดเขาพระวิหาร    ชั้นที่สามเป็นหินทรายสีเทาของชั้นหินภูกระดึงเอง ใต้ชั้นหินทรายลงไปก็เป็นชั้นของหินปูน จึงนับได้ว่าภูกระดึงเป็นภูเขาหินทราย จะสังเกตได้ว่าดินที่มีอยู่บนภูกระดึงเป็นดินทรายเสียส่วนใหญ่ และพื้นที่บางบริเวณจะเกิดเป็นลานหินกว้าง ซึ่งเกิดจากการพัดพาของน้ำ และการยึดติดรวมตัวกันของหินที่ต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนานกว่าจะเชื่อมประสานกันจนเกิดเป็นลานหินกว้างใหญ่ได้ บางบริเวณตามพื้นลำธารก็เป็นพื้นหิน ดินดาน และหินทรายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีความอ่อนตัว เมื่อเกิดการขัดสีโดยก้อนหินก้อนกรวด นานๆ เข้าจึงเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่มากมาย ซึ่งเรียกว่า "หลุมรูปหม้อ" (pot hold)

        ภูกระดึงมีพื้นที่เป็นที่ราบบนยอดเขา ซึ่งลาดเทในแนวทิศตะวันออกมายังทิศตะวันตก ทำให้ลำธารสายต่างๆ บนภูกระดึง ไหลลงมารวมกันทางทิศตะวันตกทั้งสิ้น เกิดเป็นลำน้ำที่มีความสำคัญต่อพื้นที่ราบเบื้องล่างอย่างมาก

        สภาพภูมิอากาศบนภูกระดึง มีความหนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดถึง 0 องศาเซลเซียส ในบางปีช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำมาก จะเกิดปรากฏการณ์เกล็ดน้ำแข็ง     (แม่ขะนิ้ง)

* คัดลอกจากคู่มือท่องเที่ยวภูกระดึง (สกล ธีระพงษ์ธนากร)