สภาพป่าไม้

        สภาพป่าไม้และสังคมพืชที่พบในอุทยานแห่งชาติภูกระดึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ชนิด ดังนี้

1. ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest) พบกระจายอยู่รอบเชิงเขาที่ความสูง 250-600 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร หรือ 8% ของพื้นที่อุทยานฯ โดยมีไม้เด่นได้แก่ เต็ง รัง พลวง และเหียน

2. ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) พบในระดับความสูงประมาณ 250-1,000 เมตร มีเนื้อที่มากที่สุดประมาณ 233 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 67% ไม้ที่พบได้แก่ เปล้า มะเกลือ ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ ชนิดต่างๆ

3. ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) พบในระดับความสูง 300-800 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 17 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5% พืชที่สำคัญได้แก่ กระบาก ยางแดง ยางขาว ตะเคียนหิน ฯลฯ

4. ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) ส่วนมากเป็นป่าทึบขึ้นตามริมลำธารที่ความสูงตั้งแต่ 1,000-1,300 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 31 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9% ไม้เด่นได้แก่ ไม้ก่อชนิดต่างๆ ก่วมแดง(เมเปิ้ล)

5. ป่าละเมาะเขา (Lower montane scrub) จัดอยู่ในป่าไม้ผลัดใบ สภาพป่าโล่ง ไม้ยืนต้นมักจะแคระแกร็น พบที่ความสูงประมาณ 1,200-1,300 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1% พืชที่พบได้แก่ สะเม็ก ไคร้มด รัก และ มะยมภู

6. ป่าสนเขา (Coniferous Forest) ลักษณะเป็นป่าสนสลับกับทุ่งหญ้า พบที่ความสูง 1,000-1,300 เมตร มีเนื้อที่ 35 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10% ไม้เด่นได้แก่ สนสองใบ และสนสามใบ

* คัดลอกจาก ATG. (ฉบับที่ 38)